มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 


"มหาวิทยาลัยนวัตกรรม ที่สร้างคุณค่า สู่สังคมและประเทศ"


ปี 2518


วิทยาลัยเทคโนโลยี
และอาชีวศึกษา

ปี 2527


จัดสร้าง

ศูนย์การศึกษา

ปี 2531


สถาบันเทคโนโลยี
ราชมงคล

ปี 2542


ปฏิรูปการศึกษา

ปี 2548


มหาวิทยาลัย
เทคโนโลยี
ราชมงคลธัญบุรี

 

กองนโยบายและแผน
(Policy and planning Division )

 

                 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ตามร่างพระราชบัญญัติ "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาพุทธศักราช 2518” ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เป็นต้นมา โดยได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น สำนักงานอธิการบดี  คณะ และอาจมีสถาบันเพื่อการวิจัย และสำนักเพื่อส่งเสริมวิชาการและทดสอบเป็นส่วนราชการในวิทยาลัยอีกได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรีให้การศึกษาทางด้านอาชีพทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรีระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เทคโนโลยีและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

                  จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 ทางวิทยาลัยฯ ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมธนารักษ์ จัดสรรที่ดินที่คลองหก ฝั่งตะวันตก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 610-3-41 ไร่ และตำบลคลอง รังสิตฝั่งเหนือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 109-3-04 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 720-2-55 ไร่ให้ใช้เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาต่อไป

                  เมื่อการก่อสร้างดำเนินการมาจนถึงปลายปี พ.ศ. 2530 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาได้ขอพระราชทานเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ วางศิลาฤกษ์ ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เวลา 16.09 น. ยังความปลื้มปิติยินดีมาสู่คณาจารย์ ข้าราชการนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยฯ เป็นล้นพ้น

                  ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสถาบันว่า“ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” แปลว่า“ สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมงคลแห่งพระราชา” หมายความว่าชาวราชมงคลทุกคนตั้งแต่คณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทรงถือว่าเป็นมงคลแห่งพระองค์ท่าน

                 จวบจนปี พ.ศ.2542 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายการศึกษาฉบับแรก คือพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ส่งผลให้มีการรวมการจัดการศึกษาทุกระดับไว้ในกระทรวงเดียวกันคือกระทรวงศึกษาธิการ (ใหม่) และให้สถาบันอุดมศึกษาที่สอนระดับปริญญามาอยู่ในสังกัดเดียวกัน คือสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งการกระจายอำนาจสถานศึกษา ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระคล่องตัวในรูปแบบของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของรัฐ ดังนั้นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 เพื่อให้มีโครงสร้างการบริหารและการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวทางพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและเปลี่ยนจาก "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2542 ได้แบ่งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ข้อ 3 ให้แบ่งส่วนราชการในสำนักอธิการบดี   1.กองกลาง    2.กองคลัง    3.กองเจ้าหน้าที่    4.กองงานวิทยาเขต    5.กองบริการ   และ6.กองแผนงาน และได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานตามแผนอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนสามัญ รอบที่ 3 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541-2545) ตามแผนปรับปรุงประสิทธิภาพ ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542

                  จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2548 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีตามพระราชบัญญัติ ซึ่งมีผลทำให้บุคลากรสายสนับสนุนต้องแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานตามมหาวิทยาลัยฯ ต่าง ๆ  และได้มีการปรับนโยบายในการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ โดยนำบุคลากรสายสนับสนุนจากทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มาปฏิบัติงานที่ส่วนกลาง และรับภาระงานจากหน่วยงานมาด้วย ซึ่งกองนโยบายและแผน  เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดการศึกษา  สังกัดสำนักงานอธิการบดี  ภายใต้การกำกับของรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มีภารกิจและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการวิเคราะห์ จัดทำ พัฒนา เสนอนโยบาย จัดทำแผนแม่บทด้านการพัฒนาการศึกษา จัดลำดับความสำคัญของแผนงาน โครงการ และจัดทำแผนปฏิบัติราชการ รวมถึงการจัดทำโครงการและการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถานศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยการวิเคราะห์และจัดทำนโยบายของบประมาณ กำหนดแนวทางประมาณการวงเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินนอกงบประมาณประจำปีของมหาวิทยาลัยฯ จัดสรรงบประมาณประจำปี จัดทำแผนบริหารงบประมาณประจำปีมหาวิทยาลัย การจัดทำสถิติ ข้อมูล และสารสนเทศ พัฒนาเครือข่ายสารสนเทศโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการวางแผนและการบริหารให้เป็นศูนย์ข้อมูลกลางของมหาวิทยาลัย และการดำเนินการติดตามผล ประเมินผล และวิเคราะห์ ผลการดำเนินงานตามนโยบาย แผนงาน โครงการ และงบประมาณของมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันมีการแบ่งหน่วยงานภายในออกเป็น 5 ฝ่าย คือ
1.ฝ่ายบริหารงานทั่วไป    2.ฝ่ายนโยบายแผนยุทธศาสตร์     3.ฝ่ายแผนงานและโครงการ     4.ฝ่ายวิเคราะห์งบประมาณ   และ 5.ฝ่ายข้อมูลสารสนเทศและติดตามประเมินผล